วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

หลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ไตรลักษณ์ 
ตามหลักพุทธธรรมเบื้องต้นที่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากส่วนประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า หรือมีอยู่ในรูปของการรวมตัวเข้าด้วยกันของส่วนประกอบต่างๆนั้น ซึ่งส่วนประกอบนั้นล้วนเกิดดับต่อกันไปเรื่อย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ส่วนประกอบทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นเหตุปัจจัยสืบต่อแก่กัน ความเป็นไปต่างๆทั้งหมดนี้เป็นไปตามธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์และความเป็นปัจจัยเนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายเอง จึงเรียกเพื่อให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็น

ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ แปลว่าลักษณะทั่วไป หรือเสมอเสมือนกันแก่สิ่งทั้งปวง ซึ่งได้ความหมายเท่ากัน ซึ่งประกอบด้วย (พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), 2532 :67-78)
  1. อนิจจตา (Impermanence) ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป
  2. ทุกขตา (Stress and Conflict) ความเป็นทุกข์ ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว ภาวะที่กดดัน ฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความสมอยากแท้จริง หรือความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา และก่อนให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปอยากเข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปาทาน
  3. อนัตตา (Soullessness) ความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง สิ่งทั้งหลายหากจะกล่าวว่ามีก็ต้องว่ามีอยู่ในรูปของกระแส ที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆอันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน เกิดดับสืบต่อกันไปอยู่ตลอดเวลาไม่ขาดสาย จึงเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง เมื่อต้องเกิดดับไม่คงที่ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่อาศัย ก็ย่อมมีความบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง และแสดงถึงความบกพร่องไม่สมบูรณ์อยู่ในตัว เมื่อทุกส่วนเป็นไปในรูปกระแสที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาขึ้นต่อเหตุปัจจัยเช่นนี้ ก็ย่อมไม่เป็นตัวของตัว มีตัวตนที่แท้จริงไม่ได้
อริยสัจ 4 
อริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมสำคัญที่ครอบคลุมคำสอนทั้งหมดในพระพุทธศาสนาเนื้อความทั้งหมดที่ได้แสดงออกมา คือความจริงอันประเสริฐ

อริยสัจ 4 เป็นความจริงเกี่ยวกับชีวิต และสรรพสิ่ง และเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นความจริงแท้ มีทั้งด้านเกิดทุกข์ และความดับทุกข์ หลักอริสัจ เป็นการให้มองเห็นภัยของชีวิต และมองเห็นทางปลอดภัยพร้อมแนะวิธีการหลีกภัยเอาไว้ ประกอบด้วย
  1. ทุกข์ แปลว่า ความทุกข์ หรือสภาพที่ทนได้ยาก ได้แก่ปัญหาต่างๆของมนุษย์ กล่าวให้ลึกลงอีกหมายถึง สภาวะของสิ่งทั้งหลายที่ตกอยู่ในกฎธรรมดาแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งประกอบด้วยภาวะบีบคั้น กดดัน ขัดแย้ง มีความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 : 896-897)
     
  2. สมุทัย แปลว่า เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่ ความยากที่ยึดถือเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง โดยอาการที่มีเราซึ่งจะเสพเสวย ที่จะได้จะเป็น จะไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้
     
  3. นิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า การดับทุกข์ คือการดับความอยาก การตัดเยื่อใยในความรัก ความสิ้นราคะ สิ้นโทสะสิ้นโมหะ สลัดออก สิ้นตัณหาโดยสิ้นเชิง ได้แก่นิพพาน อันเป็นสภาวะที่ทำลายความอยากในกามความสงสัย และความไม่รู้ จึงเป็นความสงบอย่างยิ่ง ดุจน้ำสมุทรที่ลึกปราศจากคลื่น อิสระอย่างยิ่งสุขอย่างยิ่ง สามารถบรรลุได้ในชาตินี้ ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม ถ้าปฏิบัติมรรค 8
     
  4. มรรค แปลว่า ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับทุกข์ หรือทางปฏิบัติในการออกจากทุกข์เป็นการแสดงให้เห็นขั้นตอน หรือวิธีการออกจากความทุกข์ พระองค์เรียกว่า ทางสายกลาง มี 8องค์ประกอบ ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามมรรค 8 ก็สามารถถอนตนจากทุกข์ได้ นี้คือตัวแก่นสารที่เป็นหลักปฏิบัติของศาสนาพุทธ เพราะพระองค์ไม่ได้ต้องการจะสอนแต่เพียงภาคทฤษฎีต้องให้ลงมือ
ในภาคปฏิบัติการจริงๆ มรรค 8 ประกอบด้วย (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์, 2546 : 12)
  1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะความไม่รู้ก่อให้เกิดความเห็นผิดในรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกและอัตตา มนุษย์เข้าใจว่า ชีวิตเต็มไปด้วยทุกข์ มีอัตตายืนพื้นที่เป็นอมตะเวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จักสิ้นสุด การสลัดความเห็นผิด และเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่างๆเรียกกว่าเกิดสัมมาทิฏฐิ
     
  2. สัมมาสังกัปปะ คิดถูกต้องเพื่อการขจัดรากเหง้าแห่งความคิดอกุศลทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะต้องมาคู่กับสัมมาทิฏฐิ
     
  3. สัมมาวาจา มนุษย์ต้องควบคุมวาจาของตน ไม่กล่าวเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบคายและวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเจ้อไร้ประโยชน์ กล่าวแต่คำสัตย์คำจริงแม้เพียงคำเดียวแต่ทำให้จิตใจสงบดีว่าคำพูดเพ้อเจ้อไร้ความหมายเป็นล้านๆคำ
     
  4. สัมมากัมมันตะ หมายถึงการประพฤติที่ถูกต้อง มุ่งเอาการรักษากริยาทางกาย ด้วยการไม่ทำร้าย หรือทำลายชีวิตบุคคลอื่น สัตว์อื่น ไม่ลักขโมยฉ้อโกง ไม่ละเมิดทางเพศ เป็นต้อน สรุปคือ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยาและหน้าที่ที่ตนความประพฤติเพื่อความสงบของตนและสังคม
     
  5. สัมมาอาชีวะ หมายถึง การประกอบอาชีพในทาวสุจริต พระพุทธเจ้ามุ่งเอาการเว้นจากการค้าอาวุธ ค้าขายมนุษย์ ค้าขายยาพิษ ค้าขายเนื้อ ค้าขายสุรายาเมาเป็นต้น ที่เรียกว่า มิจฉาวาณิชชะเป็นความชั่วที่บุคคลจะแสวงหาทรัพย์ด้วยการข่มขู่ กรราโชก กินสินบน โกง เจ้าเล่ห์ ต้มตุ๋น เป็นต้น
     
  6. สัมมาวายามะ หมายถึง ความพยายามที่จะหยุดความคิดที่ชั่ว ความรู้สึกที่ชั่ว เป็นความพยายามที่จะควบคุมตัวเอง มีวินัยด้วยตนเอง หยุดกอุศลวิตก ปลุกเร้ากุศลวิตก ขั้นตอนพยายามที่
     
  7. สัมมาสติ หมายถึงการรู้สึกตัวอยู่เสมอ การมีสำนึกในสภาวะที่จิตใจรักษารูปแบบเดิมของตน ถ้าใจมีสติกำกับ อกุศลธรรมจะเกิดมาไม่ได้ การตั้งสติที่ถูกต้องให้กำหนดสติในอารมณ์ 4ประเภท คือ กำหนดการเคลื่อนไหวของกายในอิริยาบถต่างๆ กำหนดที่ความรู้สึกเวทนา เจ็บ สุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ กำหนดความคิดนึกในจิตของตน คิดดีคิดไม่ดี ต้องมีสติกำกับรู้ และกำหนดที่ธรรมารมณ์
     
  8. สัมมาสมาธิ หมายถึงการที่จิตสงบมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านพร้อมที่จะพิจารณาสัจภาวะ หากจิตไม่สงบนิ่งก็เหมือนน้ำที่เป็นคลื่นไหวสั่นพริ้ว ไม่สามารถจะส่องเห็นเงาตัวเองอย่างชัดเจนได้
ปฏิจจสมุปบาท 
พุทธปรัชญาแสดงหลักของการเกิดขึ้นเพราะอาศัยกับและกันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เน้นถึงทฤษฏีสาเหตุและผล การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ เกิดมีขึ้นได้ด้วยอาศัยปัจจัยต่างๆ เป็นการ อธิบายสาเหตุของทุกข์ในระดับของจิตวิทยา และกายภาค ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักสำคัญที่คำสอน

เรื่องต่างๆดังพุทธพจน์ว่า 
“ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท” (ม.มู 12/346/359 อ้างใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 :79)
เพื่อให้เป็นที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คำสอนที่บอกว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นย่อมมีอีกสิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุ หรือพอเกิดเหตุอันหนึ่ง ย่อมมีผลตามมาแน่นอน ปฏิจจสมุปบาท เป็นการอธิบายเชิงปัจจัยสัมพันธ์ด้วย เป็นความจริงสูงสุดด้วย นั่นคือ ในแง่ปัจจัยสัมพันธ์พุทธ อธิบายการเกิดของโลก แต่ในแง่ความจริงสูงสุด พุทธอธิบายความหลุดพ้น เพราะตัดห่วงของปัจจัยสัมพันธ์เป็นทางสายกลางระหว่าง สัสสตวาทะ และอุจเฉทวาทะ ดังกล่าวแล้ว

หลักของปฏิจจสมุปบาท มี 4 ขั้นตอน คือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 :81)
  1. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
  2. เพราะสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
  3. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
  4. เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ
หัวข้อปฏิจจสมุปบาท 12
  • อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
  • สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ
  • วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
  • นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
  • สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
  • ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
  • เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
  • ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
  • อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
  • ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
  • ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะโลก ปริเทวะ อุปายาสะ
นี้คือห่วงโซ่แห่งปัจจัยของการเกิด ส่วนห่วงโซ่แห่งปัจจัยการดับ ก็ไล่การดับลงเรื่อยๆเช่น เพราะ อวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะดับ ชราจึงดับ นี่คือการดับแห่งทุกข์ จะเห็นว่า ในห่วงโซ่แต่ละห่วงโซ่ ไม่มีสามเหตุอื่นๆที่เรียกว่า พระเจ้าอยู่เลย เมื่อความทุกข์ดับไป เป็นการบรรลุนิพพาน ก็ไม่มีพระเจ้ามาช่วย ทั้งการเสวยผลกรรมดีหรือชั่วก็เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละบุคคล

 
เบญจขันธ์ 
พุทธปรัชญา มองเห็นชีวิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เป็นส่วนประกอบกันเข้าด้วยกันหรือเป็นเพียงการปรุงแต่ง เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ส่วนประกอบส่วนประกอบ 5 ส่วน ที่เรียกว่าเบญจขันธ์ ขันธ์ ซึ่งแปลว่า ส่วน หรือ กองชีวิตสามารถวิเคราะห์ส่วนประกอบได้ดังนี้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 : 15-16)
  1. รูปขันธ์ ได้แก่ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่ายกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกาย หรือสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติ และพฤติการณ์ต่างๆของสสารพลังงาน
  2. เวทนาขันธ์ ได้แก่ ส่วนแห่งความรู้สึก มีสุข ทุกข์ โทมนัส โสมนัส ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง 5 และทางใจ
  3. สัญญาขันธ์ ได้แก่ ความกำหนดรู้ได้ หรือการหมายรู้ คือกำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆอันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้
  4. สังขารขันธ์ ได้แก่ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ปัญญา
  5. วิญญาณขันธ์ ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
กฎแห่งกรรม 
คำสอนเรื่องกรรมของพุทธปรัชญา อาศัยคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นฐานสำคัญตามคำสอนหลัก 2 ประการนี้ แสดงให้เห็นกฎแห่งกรรมว่า ชีวิตในปัจจุบัน เป็นผล (วิบาก) ของการกระทำแห่งชีวิตในกาลอดีต และชีวิตในอนาคต ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำในชีวิตปัจจุบัน

กรรม แปลว่า การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา อันได้แก่ ความจงใจ การเลือกคัดตัดสินมุ่งหมายที่จะกระทำ เจตนา หรือเจตจำนงนี้เป็นตัวนำ บ่งชี้ และกำหนดทิศทางแห่งการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ ดังกล่าวว่า “เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ” (องฺ.ฉกฺกฺ 22/63/577)

กรรมนั้น เมื่อจำแนก ตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้ 2 อย่างคือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 : 159-160)
  1. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึงการกระที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ
  2. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี หรือกรรมดี หมายถึงการการะทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ
ถ้าจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น 3 คือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2542 : 160)
  1. กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย
  2. วจีกรรท กรรมทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา
  3. มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ
อนัตตา 
หลักอนัตตา ซึ่งเป็นปัญหาทางปรัชญาที่บุคคลอื่นเข้าใจยาก เพราะพุทธปรัชญาได้ปฏิเสธความคิดเรื่องความเป็นจริงสูงสุด คือ วิญญาณเป็นอมตะ ที่เรียกว่า อาตมัน (Atman) ของปรัชญาสายพระเวท มีความเชื่อของชนต่างๆ เกี่ยวกับวิญญาณ เช่น ชาวอียิปต์โบราณ เชื่อว่า คนเราประกอบได้ด้วยร่างกาย และวิญญาณ ที่เรียกว่า Ka และ Ba ซึ่งจะต้องคงอยู่ต่อไปหลังความตาย ในปรัชญาคริสต์ทั้งยุคปิตาจารย์และอัสสมาจารย์ ก็กล่าวถึงธรรมชาติของ Anima

หลักอนัตตาของพุทธปรัชญา ปฏิเสธวิญญาณอมตะ ปัญหาเรื่อง อาตมัน ก็ยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาตราบจนปัจจุบัน แต่พุทธปรัชญามีความเห็นว่า ความรู้สึก เป็นกระแสต่อเนื่องที่เกิดมาจากความสัมพันธ์ ของสิ่งที่เกิดก่อนและสิ่งที่ตามมาภายหลัง ไม่มีสิ่งใดที่เปลี่ยนแปลงที่อยู่ภายใต้การเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสนี้ การเกิดใหม่ของวิญญาณนั้น เกิดมาจากจิตดวงเก่า ที่มีกรรมและส่งผลให้เกิดขึ้นตามกฎแห่งกรรม เมื่อหมดกรรมจะไม่มีการเกิดอีกต่อไป

สรุปพุทธปรัชญา 
รัชญาสายตะวันออกทุกสำนักมีฐานกำเนิดมาจากศาสนา และเป้าหมายสูงสุดรวมทั้งวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามทฤษฎีของแต่ละศาสนานั้นถือว่าเป็นหลักปรัชญาของศาสนานั้นๆ พุทธปรัชญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตโดยตรงของคนที่เกิดมาบนโลก จะปฏิเสธมิได้ว่าไม่เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เลย เช่น เรื่องอริยสัจ 4 ที่บอกถึงความจริงของชีวิต วิธีการคิดและการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชีวิตอย่างเป็นระบบแบบวิทยาศาสตร์ กฎไตรลักษณ์ ที่บอกถึงสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติไม่มีผู้บงการบัญชา ครั้นตระหนักรู้ถึงกฎธรรมดาย่อมสามารถควบคุมจิตใจตนเองได้และกฎแห่งกรรมที่สอนให้มนุษย์รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำลงไปไม่ว่าดีหรือชั่ว ประการสำคัญที่สุด พุทธปรัชญา กระตุ้นให้มนุษย์แสวงหาความรู้สัจธรรมด้วยความพยายามของตัวเอง ไม่ให้พึ่งอำนาจเหนือธรรมชาติไม่ให้กราบไหว้วิงวอนโดยที่ตัวเองมิได้ลงมือกระทำ ถ้ามนุษย์พยายามด้วยตนเอง จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ประสบความสงบสุขได้แน่นอน พุทธปรัชญาจึงถือว่า เป็นมนุษยนิยมที่เน้นการปฏิบัติเป็นฐาน

คำสอนของพระพุทธเจ้า


ทรงประกาศธรรม เนื่องด้วยการปลงอายุสังขาร


ธรรมเหล่านั้น พวกเธอพึงเรียนเอาให้ดี พึงเสพให้ทั่ว  พึงเจริญทำให้มาก  
โดยอาการที่พรหมจรรย์   (คือศาสนานี้) จักมั่นคง ตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน,  
ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขแก่มหาชน, 
เพื่ออนุเคราะห์โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล  
เพื่อความสุขแก่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย !  ธรรมเหล่าไหนเล่า ที่เราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ,  
คือ :- สติปัฏฐานสี่ สัมมัปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า
โพชฌงค์เจ็ด   อริยมรรคมีองค์แปด.


ภิกษุทั้งหลาย !  บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้งหลายว่า :  
สังขารทั้งหลาย  มีความเสื่อมเป็นธรรมดา  พวกเธอจงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด, 
การปรินิพพานของตถาคต จักมีในกาลไม่นานเลย 
ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนนี้.

สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่มและคนแก่, 
ทั้งที่เป็นคนพาล และบัณฑิต, 
ทั้งที่มั่งมีและยากจน 
ล้วนแต่มีความตาย เป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า, 
เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่,  
ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ 
ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด  ฉันใด;
ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย  ก็มีความตายเป็นเบื้องหน้า  ฉันนั้น.    
วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว 
เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว.  
ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท 
มีสติ  มีศีลเป็นอย่างดี 
มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี  
ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด. 
ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว  
จักละชาติสงสาร  ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๑๔๐/๑๐๗-๑๐๘.

พุทธวจน ตามรอยธรรม

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559


ท่อนไม้ที่ลอยออกไปได้ถึงทะเล

ภิกษุทั้งหลาย !  พวกเธอได้เห็นท่อนไม้ใหญ่นั้น
ซึ่งลอยมาโดยกระแสแม่น้ำคงคา  หรือไม่ ?
“ได้เห็นแล้ว  พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูล.

ภิกษุทั้งหลาย !  ถ้าท่อนไม้นั้น
จะไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งในหรือฝั่งนอก,
ไม่จมเสียในท่ามกลางน้ำ,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
ท่อนไม้เช่นที่กล่าวนี้
จักลอยไหลพุ่งไปสู่ทะเล

เพราะเหตุว่า
ลำแม่น้ำคงคา โน้มน้อม ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่ทะเล.  ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย !  แม้พวกเธอทั้งหลายก็ฉันนั้น :
ถ้าพวกเธอไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งใน,
ไม่เข้าไปติดเสียที่ฝั่งนอก,
ไม่จมเสียในท่ามกลาง,
ไม่ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก,
ไม่ถูกมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้,
ไม่ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้,
ไม่เน่าเสียเองในภายในไซร้,
พวกเธอก็จะเลื่อนไหลไปสู่นิพพาน

เพราะเหตุว่า
สัมมาทิฏฐิ มีธรรมดาที่โน้มน้อม  ลุ่มลาด เอียงเท ไปสู่นิพพาน.

ครั้นสิ้นกระแสพระดำรัสแล้ว
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !
อะไรเล่าเป็นฝั่งในหรือฝั่งนอก ?
อะไรชื่อว่าจมในท่ามกลาง ?
อะไรชื่อว่าขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก ?
อะไรชื่อว่าถูกมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกอมนุษย์จับไว้ ?
อะไรชื่อว่าถูกเกลียวน้ำวนวนไว้ ?
อะไรชื่อว่าเน่าเสียเองในภายใน ?”

ภิกษุทั้งหลาย !
คำว่า “ฝั่งใน” เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ๖. 
คำว่า “ฝั่งนอก” เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ๖. 
คำว่า “จมเสียในท่ามกลาง” เป็นชื่อของ นันทิราคะ 
(ความกำหนัดด้วยความเพลิน).
คำว่า “ขึ้นไปติดแห้งอยู่บนบก” เป็นชื่อของ อัส๎มิมานะ 
(ความสำคัญว่า เรามี เราเป็น).
คำว่า “ถูกมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุในกรณีนี้เป็นผู้ระคนด้วยพวกคฤหัสถ์
เพลิดเพลินด้วยกัน,
โศกเศร้าด้วยกัน,
มีสุข เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นมีสุข,
เป็นทุกข์ เมื่อคฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นทุกข์, 

ประกอบการงานในกิจการที่บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เหล่านั้นด้วยตน :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ผู้ถูกมนุษย์จับไว้.  
คำว่า “ถูกอมนุษย์จับไว้” ได้แก่
ภิกษุบางรูปในกรณีนี้ ประพฤติพรหมจรรย์
โดยตั้งความปรารถนาเทพนิกายชั้นใดชั้นหนึ่ง

ว่า “ด้วยศีลนี้ หรือด้วยวัตรนี้ หรือว่าด้วยตบะนี้ เราจักได้เป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้ :
ภิกษุนี้ เราเรียกว่า  ผู้ถูกอมนุษย์จับไว้.
คำว่า “ถูกเกลียวน้ำวนวนไว้” เป็นชื่อของ กามคุณ ๕.
“ภิกษุเป็นผู้เน่าเสียเองในภายใน” คืออย่างไรเล่า ?
คือภิกษุบางรูปในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล
มีความเป็นอยู่เลวทราม ไม่สะอาด
มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้ว
ก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น
ไม่ใช่สมณะ ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ ก็ปฏิญญาว่าเป็นคนประพฤติพรหมจรรย์ 

เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย.
ภิกษุนี้  เราเรียกว่า ผู้เน่าเสียเองในภายใน แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๓/๓๒๒.

พุทธวจน ตามรอยธรรม

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559


“สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้

“แน่ะเธอ !  ที่สุดโลกแห่งใด
อันสัตว์ไม่เกิด  ไม่แก่  ไม่ตาย  ไม่จุติ  ไม่อุบัติ;
เราไม่กล่าวว่า
ใครๆ อาจรู้  อาจเห็น
อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น   ได้ด้วยการไป.

“แน่ะเธอ !   ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง 
ที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี้เอง,
เราได้บัญญัติโลก, 
เหตุให้เกิดโลก,  
ความดับสนิทไม่เหลือของโลก,
และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้” ดังนี้แล.

-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๐/๔๕. 




พุทธวจน ตามรอยธรรม ภพภูมิ


การบวชที่ไร้ประโยชน์

ภิกษุทั้งหลาย ! อาชีพต่ำที่สุด ในบรรดาอาชีพทั้งหลาย
คือการขอทาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! คำสาปแช่งอย่างยิ่งในโลกนี้ คือ
คำสาปแช่งว่า “แกถือกระเบื้องในมือเที่ยวขอทานเถอะ” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! กุลบุตรทั้งหลาย
เข้าถึงอาชีพนี้เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งประโยชน์
เพราะอาศัยอำนาจแห่งประโยชน์,
ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์
ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช
ไม่ใช่เป็นคนหนีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนหนีภัย
ไม่ใช่เป็นคนไร้อาชีพ
, จึงบวช.
อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า
เราทั้งหลายเป็นผู้ถูกหยั่งเอาแล้ว
โดยชาติชรามรณะโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย
เป็นผู้อันความทุกข์หยั่งเอาแล้ว
มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว
ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏแก่เรา
 ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! แต่ว่ากุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนี้
กลับเป็นผู้มากไปด้วยอภิชฌามีราคะแก่กล้าในกามทั้งหลาย
มีจิตพยาบาท
มีความดำริแห่งใจเป็นไปในทางประทุษร้าย
มีสติอันลืมหลงแล้ว
ไม่มีสัมปชัญญะ
มีจิตไม่ตั้งมั่นแล้ว
มีจิตหมุนไปผิดแล้ว
มีอินทรีย์อันตนไม่สำรวมแล้ว
.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน
ดุ้นฟืนจากเชิงตะกอน ที่เผาศพ
ยังมีไฟติดอยู่ทั้งสอง
ตรงกลางก็เปื้อนอุจจาระ
ย่อมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในบ้านเรือนก็ไม่ได้
ย่อมใช้ประโยชน์เป็นไม้ในป่าก็ไม่ได้
,
ข้อนี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวบุคคลนี้ว่ามีอุปมาเช่นนั้น; คือ
เป็นผู้เสื่อมจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย,
ไม่ทำประโยชน์แห่งสมณะให้บริบูรณ์ด้วย
.

-บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๑๑๓/๑๖๗, ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๓๘/๓๓๐.

พุทธวจน ฆราวาสชั้นเลิศ

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559


สิ้นกิเลสก็แล้วกัน ไม่ต้องรู้ว่าสิ้นไปเท่าไร

ภิกษุทั้งหลาย !  เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือ 
ย่อมปรากฏอยู่ที่ด้ามเครื่องมือของพวกช่างไม้ หรือลูกมือของพวกช่างไม้
แต่เขาก็ไม่มีความรู้ว่า
ด้ามเครื่องมือของเรา
วันนี้สึกไปเท่านี้
วานนี้สึกไปเท่านี้
วันอื่นๆ สึกไปเท่านี้ๆ
คงรู้แต่ว่ามันสึกไปๆ เท่านั้น, นี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย !  เมื่อภิกษุตามประกอบภาวนาอยู่
ก็ไม่รู้อย่างนี้ว่า
วันนี้อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้
วานนี้สิ้นไปเท่านี้
วันอื่นๆ สิ้นไปเท่านี้ๆ
รู้แต่เพียงว่า สิ้นไปในเมื่อมันสิ้นไปๆ เท่านั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.

-บาลี สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๒๗/๖๘.

พุทธวจน ก้าวย่างอย่างพุทธะ


ความอยาก (ตัณหา)คือ ต้นเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท

เพราะอาศัยตัณหา (ความอยาก) จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา);
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ);
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย);
เพราะอาศัยความปลงใจรัก จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค);
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ จึงมี ความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ);
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห);
เพราะอาศัยความจับอกจับใจ จึงมี ความตระหนี่ (มจฺฉริยํ);
เพราะอาศัยความตระหนี่ จึงมี การหวงกั้น (อารกฺโข); 
เพราะอาศัยการหวงกั้น จึงมี เรื่องราวอันเกิดจากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ);
กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !”
การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จทั้งหลาย :
ธรรมอันเป็นบาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม 
ด้วยอาการอย่างนี้.

-บาลี มหา. ที. ๑๐/๖๗/๕๘.

พุทธวจน ปฐมธรรม

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559


ผู้มีอุปการะมาก

ถูกแล้วๆ อานนท์ ! จริงอยู่
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ 
เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต
จากอทินนาทาน
จากกาเมสุมิจฉาจาร
จากมุสาวาท
จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย 

เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส อันหยั่งลงมั่น ไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์
ประกอบด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยะเจ้า 

เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี
แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร

บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว
ได้เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์
ในทุกขสมุทัย
ในทุกขนิโรธ
ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี 

แม้ด้วยการอภิวาท
การลุกขึ้นยืนรับ
การทำอัญชลี
การทำสามีจิกรรม
และการตามถวายซึ่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-ปัจจัยเภสัชชบริขาร

-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๔๕๗/๗๐๙.

พุทธวจน ภพภูมิ

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559


ธรรม ๗ ประการของผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการนี้
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธรรม ๖ ประการนั้นเป็นอย่างไร คือ :-

(๑) ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุมีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา 
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๒) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๓) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา
ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์
ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๔) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม
ได้แล้วโดยธรรม
ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร
ก็บริโภคโดยไม่เกียดกันไว้เพื่อตน
ย่อมเป็นผู้บริโภคเฉลี่ยทั่วไป
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล 

ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๕) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท อันผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ
และถึงความเป็นผู้มีศีลเสมอกันในศีลเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย 

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

(๖) ภิกษุทั้งหลาย !  อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก (นิยฺยานิก)
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
และถึงความเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันในทิฏฐิเช่นนั้น
กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ 

ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
ธรรมแม้นี้เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรม ๖ ประการเหล่านี้แล
เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน
เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงกัน
เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้ 

ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกันไว้.

ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนยอดเป็นที่สูงสุด
เป็นที่ยึดคุมของเรือนยอด ฉันใด
ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นยอดยึดคุมธรรม ๖ ประการเหล่านี้
ที่เป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน.

ภิกษุทั้งหลาย !
ก็ทิฏฐิอันเป็นอริยะ
อันเป็นเครื่องนำออก
นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เป็นอย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไปแล้วสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่างก็ตาม
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว (ปริยุฏฺฐาเนน ปริยุฏฺฐิตจิตฺโต)
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มีอยู่หรือไม่หนอ.
ภิกษุทั้งหลาย !
ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะครอบงำ
หรือมีจิตอันพยาบาทครอบงำ
หรือมีจิตอันถีนมิทธะครอบงำ
หรือมีจิตอันอุทธัจจกุกกุจจะครอบงำ
หรือมีจิตอันวิจิกิจฉาครอบงำ
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
หรือเป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกอื่น
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ถ้าภิกษุุเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่
ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำครอบงำแล้ว.
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีจิตถูกเครื่องครอบงำใดครอบงำแล้ว
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
เครื่องครอบงำนั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน
มิได้มีเลย จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว
เพื่อความตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย
นี้คือ ญาณที่ ๑ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตนหรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเสพให้ทั่วถึง ทำให้เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความสงบเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับเฉพาะตน
นี้คือญาณที่ ๒ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือหนอ
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ที่เป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้นมิได้มี
นี้คือญาณที่ ๓ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !  ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
ความออกจากอาบัติเช่นใด ย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
อริยสาวกนั้นจะรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัตินั้น
ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนที่นอนหงาย
ถูกถ่านไฟด้วยมือ หรือด้วยเท้าเข้าแล้ว
ก็จะชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๔ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
  

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิมีธรรมดาดังนี้ คือ
อริยสาวกย่อมถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำ
ของเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้
แต่ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นก็ยังมีอยู่
เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน
ย่อมเล็มหญ้ากินไปด้วย ชำเลืองดูลูกไปด้วยฉะนั้น
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๕ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
 ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ?
ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมทำให้เกิดประโยชน์
ย่อมทำไว้ในใจ
ย่อมกำหนดด้วยจิตทั้งปวง
ย่อมเงี่ยโสตลงฟังธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๖ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย ! อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย !
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเป็นอย่างไร ? ภิกษุทั้งหลาย !
พละของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นดังนี้ คือ
อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็เป็นผู้ประกอบด้วยพละเช่นนั้น
นี้คือญาณที่ ๗ อันเป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.

ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว
ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

-บาลี มู. ม. ๑๒/๕๘๑/๕๔๒.


พุทธวจน คู่มือโสดาบัน

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559


สิ้นความอยาก ก็สิ้นทุกข์

นิสฺสิตสฺส จลิตํ
ความหวั่นไหว ย่อมมี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัยแล้ว
อนิสฺสิตสฺส จลิตํ นตฺถิ;
ความหวั่นไหว ย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว
จลิเต อสติ ปสฺสทฺธิ;
เมื่อความหวั่นไหว ไม่มี, ปัสสัทธิ ย่อมมี
ปสฺสทฺธิยา สติ นติ น โหติ;
เมื่อปัสสัทธิ มี, ความน้อมไป ย่อมไม่มี
นติยา อสติ อาคติคติ น โหติ;
เมื่อความน้อมไป ไม่มี, การไปและการมา ย่อมไม่มี
อาคติคติยา อสติ จุตูปปาโต น โหติ;
เมื่อการไปการมา ไม่มี, การเคลื่อนและการบังเกิด ย่อมไม่มี
จุตูปปาเต อสติ เนวิธ น หุรํ น อุภยมนฺตเร:
เมื่อการเคลื่อนและการบังเกิดไม่มี, อะไรๆ ก็ไม่มีในโลกนี้
ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง

เอเสวนฺโต ทุกฺขสฺส
นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.

-บาลี อุ. ขุ. ๒๕/๒๐๘/๑๖๑.

พุทธวจน อินทรียสังวร

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2559


อินทรียสังวร ปิดกั้นการเกิดขึ้นแห่งบาปอกุศล

ภิกษุทั้งหลาย !  เรื่องเคยมีมาแต่ก่อน 
เต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ก็เที่ยวหากินตามริมลำธารในตอนเย็นเช่นเดียวกัน.
เต่าตัวนี้ได้เห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินแต่ไกล, 
ครั้นแล้ว จึงหดอวัยวะทั้งหลาย 
มีศีรษะเป็นที่ห้าเข้าในกระดองของตนเสีย เป็นผู้ขวนขวายน้อยนิ่งอยู่.
แม้สุนัขจิ้งจอกก็ได้เห็นเต่าตัวที่เที่ยวหากินนั้นแต่ไกลเหมือนกัน,
ครั้นแล้ว จึงเดินตรงเข้าไปที่เต่า คอยช่องอยู่ว่า
“เมื่อไรหนอ เต่าจักโผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออก
ในบรรดาอวัยวะทั้งหลาย มีศีรษะเป็นที่ห้า 
แล้วจักกัดอวัยวะส่วนนั้นคร่าเอาออกมากินเสีย” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ตลอดเวลาที่เต่าไม่โผล่อวัยวะออกมา
สุนัขจิ้งจอกก็ไม่ได้โอกาส ต้องหลีกไปเอง;
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น; 
มารผู้ใจบาปก็คอยช่อง 
ต่อพวกเธอทั้งหลายติดต่อไม่ขาดระยะอยู่เหมือนกันว่า
“ถ้าอย่างไร เราคงได้ช่อง ไม่ทางตา ก็ทางหู 
หรือทางจมูกหรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ”, ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้พวกเธอทั้งหลาย 
จงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด;
ได้เห็นรูปด้วยตา, 
ได้ฟังเสียงด้วยหู, 
ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก,
ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, 
ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย,
หรือได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว 
จงอย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด,
อย่าได้ถือเอาโดยลักษณะที่เป็นการแยกถือเป็นส่วนๆ เลย,
สิ่งที่เป็นบาปอกุศลคือ 
อภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามบุคคลผู้ไม่สำรวม 
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 
เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์เหล่าใดเป็นเหตุ. 
พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติเพื่อการปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, 
พวกเธอทั้งหลายจงรักษา 
และถึงความสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เถิด.

ภิกษุทั้งหลาย !  ในกาลใด พวกเธอทั้งหลาย 
จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
ในกาลนั้น มารผู้ใจบาป 
จักไม่ได้ช่องแม้จากพวกเธอทั้งหลาย 
และจักต้องหลีกไปเอง, 
เหมือนสุนัขจิ้งจอกไม่ได้ช่องจากเต่าก็หลีกไปเอง ฉะนั้น.
“เต่า หดอวัยวะไว้ในกระดอง ฉันใด, 
ภิกษุ พึงตั้งมโนวิตก (ความตริตรึกทางใจ) ไว้ในกระดอง ฉันนั้น. 
เป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิไม่อิงอาศัยได้, 
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น, 
ไม่กล่าวร้ายต่อใครทั้งหมด, 
เป็นผู้ดับสนิทแล้ว” ดังนี้แล.

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๒/๓๒๐.

พุทธวจน อินทรียสังวร